วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การใช้เครื่องเชื่อมก๊าซ

การใช้เครื่องเชื่อมก๊าซ

การเชื่อมก๊าซเป็นวิธีการเชื่อมแพร่หลาย เหมาะสำหรับการเชื่อมต่อโลหะที่เป็นแผ่นบาง เพราะการเชื่อมด้วยไฟฟ้าทำไม่ได้เนื่องจากมีอุณหภูมิสูง แผ่นโลหะหลอมตัวมากไฟ พบมากใช้ในโรงงานหล่อหลอมโลหะ โรงงานตัดเรือเหล็ก อู่เคาะพ่นสี ร้านทำท่อไอเสียรถยนต์ และงานซ่อมบำรุงประจำโรงงาน อันตรายของเครื่องเชื่อมก๊าซได้แก่ ท่อบรรจุก๊าซระเบิด แสงจ้าจากการเชื่อม เปลวไฟจากหัวเชื่อมและฟูมหรือก๊าซพิษ

อุปกรณ์ที่ใช้ในการเชื่อมก๊าซ
1. ท่อบรรจุก๊าซ ออกซิเจน อะซิติลีน หรือถังก๊าซปิโตรเลียมเหลว
2. ชุดควบคุมความดันก๊าซ ทำหน้าที่ลดความดันให้เหมาะสมที่จะจ่ายไปใช้งาน
3. มาตรวัดความดันก๊าซ มี 2 ชุด มาตรวัดความดันสูงใช้วัดความดันในท่อบรรจุก๊าซ มาตรวัดความดันต่ำวัดความดันที่จ่ายไปใช้งาน
4. สายส่งก๊าซ มี 2 เส้น สำหรับก๊าซออกซิเจนและก๊าซอะเซทิลีน ส่วนก๊าซปิโตรเลียมเหลวจะใช้สายเดียว
5. หัวเชื่อมหรือหัวตัด ทำหน้าที่ผสมก๊าซทั้ง 2 ชนิดและทำหน้าที่ปรับเปลวไฟ
6. อุปกรณ์จุดประกายไฟ ทำหน้าที่ก่อให้เกิดประกายไฟสำหรับหัวเชื่อมหรือหัวตัด
7. ลวดเชื่อม ทำหน้าที่ประสานชิ้นงานเข้าด้วยกัน
8. อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เช่น แว่นตากรองแสง ถุงมือ และรองเท้านิรภัย

การเชื่อมโลหะด้วยก๊าซอย่างปลอดภัย
1. อุปกรณ์การเชื่อมหรือตัด
1.1 ท่อบรรจุก๊าซ ออกซิเจน อะเซติลีนหรือปิโตรเลียมเหลว จะต้องได้มาตรฐานและมีการตรวจสอบตามระยะเวลาที่กำหนด
1.2 ชุดควบคุมความดันก๊าซ สามารถควบคุมก๊าซที่จ่ายออกมาคงที่สม่ำเสมอ และได้มาตรฐานหรือมีสถาบันรับรอง
1.3 มาตรวัดความดัน จะต้องตกศูนย์เมื่อไม่มีความดัน ถ้ามีความดันเข็มจะเคลื่อนที่อย่างไม่ติดขัดหรือค้างเป็นช่วงๆ
1.4 ปลายสายส่งก๊าซออกซิเจนจะใช้ข้อต่อแบบเกลียวขวา ส่วนปลายท่อส่งก๊าซเชื้อเพลิงจะใช้เกลียวซ้าย ป้องกันการต่อสายสลับกัน
2. ช่างเชื่อม เพื่อความปลอดภัยควรมีคุณสมบัติหรือต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับช่างเชื่อมไฟฟ้า
2.1 ต้องมีความรู้เกี่ยวกับเครื่องเชื่อมและวิธีการเชื่อมแก๊สมาอย่างดี
2.2 ควรได้รับการฝึกให้ใช้อุปกรณ์ดับเพลิง
2.3 ต้องแต่งกายให้เหมาะสม เช่น สวมเสื้อแขนยาว และกางเกงขายาวทำด้วยผ้าเนื้อหนา
2.4 รู้จักใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เช่น หน้ากากกรองแสงสำหรับเชื่อมแก๊ส รองเท้านิรภัยชนิดหุ้มข้อแบบไม่ใช้เชื่อกผูก ถุงมือหนัง เสื้อหนังสำหรับงานเชื่อม และผ้าคลุมหน้าอกและลำตัวหรือเอี๊ยม เป็นต้น
3. บริเวณที่ปฏิบัติงาน เพื่อความปลอดภัยควรมีลักษณะเช่นเดียวกับที่กล่าวมาข้างต้น
4. การเชื่อมหรือตัดด้วยก๊าซเพื่อความปลอดภัย
4.1 ท่อก๊าซที่นำไปใช้งานต้องวางห่างจากแหล่งความร้อน และยึดแน่นไม่ล้มง่าย
4.2 ตรวจสอบรอยรั่วของก๊าซที่บริเวณชุดควบคุมความดันด้วยฟองสบู่โดยเน้นบริเวณรอยต่อของวาล์วกับท่อก๊าซ และควรทำทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนท่อก๊าซใหม่
4.3 ตรวจสอบรอยรั่วของสายส่งก๊าซ โดยการเปิดก๊าซผ่านเข้าท่อส่งก๊าซทั้งสอง แล้วปิดวาล์วที่หัวเชื่อมไว้ นำสายส่งก๊าซจุ่มลงในน้ำ ถ้ามีการรั่วจะเกิดฟองน้ำผุดขึ้นมา
4.4 ตรวจสอบรอยรั่วที่วาล์วของหัวเชื่อม และรอยต่อสายส่งก๊าซด้วยฟองสบู่
4.5 ปรับตั้งแรงดันก๊าซออกซิเจนและก๊าซอะเซทิลีนหรือก๊าซอื่นให้เหมาะสมก่อนใช้งาน
4.6 การจุดไฟที่หัวเชื่อมควรใช้อุปกรณ์จุดไฟโดยเฉพาะไม่ควรใช้ไม้ขีด
4.7 การจุดไฟที่หัวเชื่อมเริ่มจากการเปิดวาล์วก๊าซอะเซทิลีนก่อนโดยให้ก๊าซออกมาเล็กน้อย แล้วจุดประกายไฟ เมื่อไฟติดจึงเปิดวาล์วก๊าซออกซิเจน จากนั้นปรับเปลวไฟให้ได้ตามต้องการ ส่วนการปิดก็ให้ปิดวาล์วก๊าซอะเซทิลีนก่อนแล้วจึงปิดวาล์วออกซิเจนตาม
4.8 ท่อก๊าซที่ยังไม่ได้ใช้งานควรมีฝาครอบวาล์วปิดไว้ ท่อที่ใช้แล้วควรมีป้ายบอกและแยกเก็บเป็นสัดส่วน
4.9 ห้ามใช้น้ำมันหรือจารบีในการหล่อลื่นข้อต่อก๊าซทุกจุด
4.10 การเปิดวาล์วจากท่อออกซิเจน ควรเปิดช้าๆ เพราะความดันภายในท่อออกซิเจนสูงมาก การเปิดอย่างรวดเร็วอาจเกิดอันตรายได้
4.11 ห้ามเชื่อมหรือใช้หัวตัดด้วยก๊าซโดยไม่สวมแว่นตากรองแสงที่เหมาะสม




ลวดเชื่อมแก๊ส (Filler Rod)

ลวดเชื่อมแก๊ส หมายถึง โลหะที่ใช้เติมลงในบ่อหลอมเหลวขณะทำการ
เชื่อมด้วยแก๊ส ซึ่งจะมีส่วนผสมของธาตุต่าง ๆ ที่มีสมบัติใกล้เคียงกับโลหะชิ้นงานมากที่สุด และยังสามารถเพิ่มสมบัติทางเชิงกลของแนวเชื่อมให้ดียิ่งขึ้น
4.1สมบัติของลวดเชื่อมแก๊ส
ของลวดเชื่อมแก๊ส จะเป็นลวดเชื่อมเปลือย (Bare) ทรงกลมผิวจะเคลือบด้วยทองแดง เพื่อให้ทนต่อสภาพอากาศและเก็บรักษาไว้ได้นาน ป้องกันการเกิดสนิมได้ง่าย ลวดเชื่อมแก๊สจะมีขนาดตั้งแต่ 2 – 6 มิลลิเมตร
4.2ประเภทของลวดเชื่อมแก๊ส
ลวดเชื่อมแก๊สแบ่งตามชนิดของโลหะที่ใช้ในการผลิตได้ 2 ประเภท คือ
4.2.1 ลวดเชื่อมแก๊สที่เป็นเหล็ก จะมีส่วนผสมของธาตุเหล็ก เป็นหลักและจะมีส่วนผสมของธาตุอื่นเล็กน้อย เพิ่มธาตุคาร์บอน แมงกานีส ซิลิคอน และฟอสฟอรัส เป็นต้น ซึ่งการเชื่อมโลหะที่เป็นเหล็กนี้จะใช้ฟลั๊กซ์หรือไม่ใช้ก็ได้
4.2.2 ลวดเชื่อมแก๊สที่ไม่ใช่เหล็ก ใช้ในการเชื่อมโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก เช่น อลูมิเนียม ทองแดง ทองเหลืองเป็นต้น และการเชื่อมโลหะประเภทนี้ จำเป็นต้องใช้ฟลักซ์ เพื่อช่วยในการประสานได้ดี ลวดเชื่อมทั้งสองชนิดนี้ อาจจะทำเป็นเส้นหรือม้วนก็ได้ โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางและความยาว
4.3 มาตรฐานสัญลักษณ์ลวดเชื่อมแก๊ส
มาตรฐานลวดเชื่อมแก๊สที่จำแนกโดยสมาคมการเชื่อมของประเทศสหรัฐอเมริกา มาตรฐาน AWS (American Welding Society) ได้กำหนดชนิดและสมบัติของลวดเชื่อมแก๊สเป็นตัวอักษรและตัวเลข เช่น
GA – 50 GA – 60
GB – 60 GB – 65
ซึ่งมีความหมายดังนี้
ตัวอักษร G หมายถึง ลวดเชื่อมแก๊ส
A หมายถึง ลวดเชื่อมที่มีสมบัติยึดตัวสูง
(High Ductility)
B หมายถึง ลวดเชื่อมที่มีสมบัติยืดตัวต่ำ
(Low Ductility)
ตัวเลข 50 , 60 และ 60 หมายถึง ค่าความต้านแรงดึงต่ำสุดที่แนวเชื่อมทนได้คูณด้วย 1,000 มีหน่วยเป็นปอนด์ต่อตารางนิ้ว
ตัวอย่าง GA – 65
G = ลวดเชื่อมแก๊ส
A = ลวดเชื่อมที่มีสมบัติยืดตัวสูง
65 = แนวเชื่อมรับแรงดึงได้ต่ำสุด 65,000 ปอนด์ต่อ
ตารางนิ้ว (65 X 1,000 = 65,000 PSI)